วันอังคารที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ทักษะภาวะผู้นำองค์กรโรงเรียนในศตวรรษที่ 21

ทักษะภาวะผู้นำองค์กรโรงเรียนในศตวรรษที่ 21
ดร. บุญช่วย  สายราม
       กระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งทางด้านวิทยาการ และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศทำให้แต่ละประเทศไม่สามารถปิดตัวอยู่โดยลำพังได้ ต้องร่วมมือและพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน  การดำรงชีวิตของคนในแต่ละประเทศมีการติดต่อสื่อสารซึ่งกันและ กัน มีความร่วมมือในการปฏิบัติภารกิจและแก้ปัญหาต่างๆร่วมกันมากขึ้น ในขณะเดียวกันสังคมโลกในยุคปัจจุบันก็เต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสารทำให้คนต้องคิดวิเคราะห์ แยกแยะและมีการตัดสินใจที่รวดเร็วเพื่อให้ทันกับเหตุการณ์ในสังคมที่มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น สิ่งเหล่านี้นำไปสู่สภาวการณ์ของการแข่งขันทางเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมระหว่างประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้และเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้หลายประเทศต้องปฏิรูปการศึกษา  ดังนั้น  คุณภาพของการจัดการศึกษาจึงเป็นตัวบ่งชี้สำคัญประการหนึ่งสำหรับศตวรรษที่ 21 และศักยภาพในการแข่งขันในเวทีโลกของแต่ละประเทศ ประเทศที่จะอยู่รอดได้หรือคงความได้เปรียบก็คือประเทศที่มีอำนาจทางความรู้และเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ซึ่งในยุคโลกไร้พรมแดนคนต่างชาติจะเข้ามาทำงานและประกอบอาชีพในประเทศไทยมากขึ้นและในขณะเดียวกันคนไทยก็มีโอกาสไปทำงานและประกอบอาชีพในต่างประเทศมากขึ้นด้วยเช่นกัน 
           
สถาบันการศึกษาในระดับต่างๆ มีบทบาทและหน้าที่ในการจัดการศึกษา การอบรมสั่งสอนอย่างสมดุลให้สอดคล้องกับชีวิตจริง ตลอดจนการสร้างความรู้และส่งเสริมความสามารถอย่างหลากหลายเพื่อนำไปสู่การประกอบวิชาชีพ โดยเฉพาะในระดับโรงเรียนซึ่งมีหน้าที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานจะต้องสร้างเด็กไม่ใช่เพียงเน้นด้านวิชาความรู้เท่านั้นแต่ต้องจัดการศึกษาให้ครอบคลุมด้านอื่นๆ ในชีวิตจริงของเด็กด้วย โดยต้องจัดระบบการเรียนการสอนที่มุ่งให้โอกาสทุกคนในการศึกษาตามความสามารถและศักยภาพของแต่ละคน และมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการศึกษาเรียนรู้  โรงเรียนต้องเป็นหน่วยบริการทางการศึกษาในมิติที่กว้างขึ้น เพราะในปัจจุบันสังคมโลกเป็นสังคมที่ไร้พรมแดนมีการติดต่อประสานสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่าง ๆ มากขึ้น ดังนั้นในอนาคตโรงเรียนแต่ละแห่งจะต้องมีการแข่งขันด้านคุณภาพมากขึ้น โรงเรียนในประเทศไทยจึงจำเป็นต้องพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ยุคใหม่ที่มุ่งพัฒนาผู้เรียนและผลิตกำลังคนให้มีศักยภาพที่จะช่วยพัฒนาประเทศให้สามารถแข่งขันในด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การเมืองและเทคโนโลยีกับนานาประเทศได้
          ผู้บริหารถานศึกษาที่มีภาวะผู้นำสูงคือกุญแจสำคัญไปสู่การปฏิรูปการศึกษาที่ยั่งยืน ซึ่งนักการศึกษาทั้งหลายต่างมีความเชื่อว่าผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องมีทักษะการบริหาร เป็นผู้นำทางวิชาการมีความรู้ความสามารถและมีความเป็นมืออาชีพจึงจะเป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพและบริหารงานให้เกิดประสิทธิผลต่อการพัฒนาทั่วทั้งองค์กรและสามารถสร้างบรรยากาศที่ก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมและพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรให้สามารถปฏิบัติงานให้บรรลุเป้าหมายร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ซึ่งในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงที่ดำเนินไปอย่างรวดเร็วทุกองค์กรจะมุ่งปฏิรูปการปฏิบัติงานให้มีคุณภาพ มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับและเน้นในเรื่องความรับผิดชอบในด้านต่างๆที่มีต่อผู้รับบริการ ผู้บริหารสถานศึกษาจึงต้องเป็นผู้นำยุคใหม่ที่สามารถมองภาพขององค์กรได้อย่างทะลุปรุโปร่งและชัดเจน สามารถเชื่อมโยงสภาพปัจจุบันและภาพในอนาคตที่ต้องให้ความสำคัญและต้องเปลี่ยนแปลงรวมทั้งต้องเป็นผู้นำทีมแห่งการเรียนรู้ ซึ่งจะส่งผลต่อการจัดการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลอย่างยั่งยืน
           ทักษะภาวะผู้นำเป็นคุณลักษณะที่สำคัญของการเป็นผู้นำที่มีประสิทธิผล ผู้บริหารซึ่งเป็นผู้นำองค์กรหรือหน่วยงานจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับการพัฒนาทักษะที่จำเป็นและสำคัญต่อการบริหารงาน บริหารตนเอง และบริหารบุคลากรอย่างต่อเนื่องเพื่อนำไปสู่การบริหารงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สำหรับทักษะภาวะผู้นำที่จำเป็นสำหรับผู้บริหารในศตวรรษที่  21  ที่ส่งเสริมให้เป็นผู้นำที่มีประสิทธิผลสูง ประกอบด้วย  1 ) ทักษะการสร้างทีมงานที่มีประสิทธิผลสูง ( Highly effective Team building skill )  2 ) ทักษะการแก้ปัญหา ( Problem– solving skills )  3 ) ทักษะการวางแผน   ( Planning – Project skills )   4 ) ทักษะการกำกับการปฏิบัติงาน   ( Performance monitoring skills )    5 ) ทักษะการสื่อสารที่ดี  ( Communication and climate set skills )   6 ) ทักษะการสร้างสัมพันธ์     ( Relationship building up skills )    7 ) ทักษะการสอนงาน    ( Coaching skills )     8 )  ทักษะทางสังคม  ( Social skill )   9 ) ทักษะการติดสินใจ   ( Decision making skill )    10 )  ทักษะการกระตุ้นจูงใจ    ( Motivational skills )   11 )  ทักษะการคิดเชิงสะท้อน   ( Reflective & thinking  skills   ) 12 )   ทักษะการจัดการตนเอง   ( Self – management skills )     13 ) ทักษะด้านการใช้เทคโนโลยี  ( Technological skills )   14 ) ทักษะด้านการเรียนการสอน  (  Pedagogical skills)    และ  15 ) ทักษะด้านความฉลาดทางอารมณ์  ( Emotional intelligence skills ) 
          การพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐานถือว่าเป็นกรอบสำคัญในการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2 ( พ. ศ. 2552 – 2561 ) โดยมุ่งหมายให้ผู้บริหารสถานศึกษาพัฒนาตนเองและพัฒนางานอย่างต่อเนื่อง   ซึ่งการบริหารและพัฒนาการศึกษาในปัจจุบันจะมีลักษณะแตกต่างไปจากเดิม โดยสถานศึกษาจะมีอำนาจในการบริหารและจัดการศึกษาด้วยตนเองมากขึ้นทำให้ผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องปรับบทบาทหน้าที่เพื่อปฏิบัติงานบริหารการศึกษาในรูปแบบใหม่ได้อย่างยั่งยืน จึงมีความจำเป็นต้องมีการพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษาให้มีทักษะทางการบริหารงานอย่างต่อเนื่องเพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจ มีความพร้อม มีสมรรถนะและศักยภาพ มีขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงาน  สามารถบริหารจัดการศึกษาและดำเนินการปฏิรูปการเรียนรู้ในสถานศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพตามหลักธรรมาภิบาล สามารถบริหารจัดการและสนับสนุนเพื่อพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลส่งผลต่อคุณภาพผู้เรียนตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ   จากการศึกษาเกี่ยวกับการบริหารและพัฒนาการศึกษาของประเทศต่างๆทั่วโลกที่มีผลการจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพของ Organization for Economic Co-operation  and Development : OECD ปี 2012 พบว่า ผู้บริหารสถานศึกษาในยุคศตวรรษที่  21 ต้องได้รับการพัฒนาให้มีทักษะภาวะผู้นำที่จำเป็นอย่างอย่างต่อเนื่อง เพราะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการบริหารงานในสถานศึกษาให้เกิดประสิทธิผลสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะที่สำคัญที่สถาบันและองค์กรชั้นนำระดับโลกต่างๆให้ความสำคัญ ประกอบด้วย ทักษะการสร้างทีมงาน     ( Team building skill )  และทักษะการจัดการความขัดแย้ง ( Conflict management skill )
        จากการศึกษาของ Center Creative Leadeship ( CCL ) และ National Association of Secondary School Principals ( NASSP) สรุปเกี่ยวกับทักษะภาวะผู้นำสำหรับผู้บริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐานในศตวรรษที่  21  ที่สำคัญ จำนวน  10 ทักษะ ประกอบด้วย  1 ) ทักษะการสร้างทีมงาน     2 )  ทักษะการจัดการความขัดแย้ง    3 )  ทักษะการแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ 4 ) ทักษะการตัดสินใจ  5 )  ทักษะการคิดสร้างสรรค์  6 ) ทักษะทางเทคโนโลยี / นวัตกรรม  / ดิจิตอล    7 ) ทักษะการสื่อสาร   8 )  ทักษะการจูงใจ  9 )  ทักษะการมอบหมายงานและการสอนงาน  และ  10 ) ทักษะชีวิต 
       สรุป การพัฒนาทักษะภาวะผู้นำสำหรับผู้บริหารสถานศึกษายุคใหม่โดยเฉพาะในประเทศไทยจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่หน่วยงานระกับนโยบายอย่างกระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ต้องวางแผนและจัดลำดับความสำคัญในการเร่งเสริมสร้างคุณภาพในตัวผู้นำองค์กรโรงเรียน เพื่อให้มีทักษะในการบริหารงานยุคใหม่ มีความรู้มิติกว้าง มีทัศนคติที่ดีต่อวิชาชีพ  มีนิสัยผู้นำที่แท้จริง มีพฤติกรรมและมีคุณลักษณะของการเป็นผู้นำที่ทรงประสิทธิผล สามารถนำพาทีมงานในสถานศึกษาทะลุทะลวงเป้าหมายของการพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดผลสัมฤทธิ์ในการพัฒนาการศึกษาอย่างยั่งยืน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น