วันอาทิตย์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

รูปแบบการบริหารสถานศึกษาสู่ความเป็นเลิศ


 

ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนโดยใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีเป็นฐาน


 

กลยุทธ์ขับเคลื่อนระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน


 

ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน


 

วันเสาร์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2561

ทักษะภาวะผู้นำสำหรับผู้บริหารสถานศึกษาในศตวรรษที่ 21 21st Century Leadership Skill for School Administrators ;Dr. BOONCHAUY SAIRAM


ทักษะภาวะผู้นำสำหรับผู้บริหารสถานศึกษาในศตวรรษที่ 21
21st Century Leadership Skill for School Administrators

Dr. BOONCHAUY  SAIRAM1

บทคัดย่อ

การจัดการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ที่ประสบความสำเร็จนั้นตัวแปรที่สำคัญที่สุดในเชิงบริหารจัดการ  ก็คือ ผู้บริหารสถานศึกษา ซึ่งจะต้องเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง การพัฒนาตนเองสู่การเป็นผู้นำที่ดี  มีทักษะความเป็นผู้นำ มีปัญญา มีความรู้ความสามารถ มีความฉลาดทางอารมณ์ มีความกล้าหาญทางจริยธรรมและมีทักษะในการใช้กระบวนการวิจัยและพัฒนาเพื่อการบริหารจัดการที่ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพทั่วทั้งสถานศึกษาโดยมุ่งผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นกับผู้เรียนทุกระดับเป็นสำคัญ การบรรลุเป้าหมายด้านคุณภาพของผู้เรียนอย่างยั่งยืนจึงต้องอาศัยองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดก็คือ ภาวะผู้นำของผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารถานศึกษาที่มีภาวะผู้นำสูงคือกุญแจสำคัญของการปฏิรูปและการพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่ยั่งยืน  ซึ่งนักการศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศต่างมีทัศนะว่าผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องเป็นผู้นำยุคใหม่ที่มีทักษะการบริหารงานที่หลากหลาย  สามารถเชื่อมโยงสภาพปัจจุบันและภาพอนาคต      มุ่งพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรให้สามารถปฏิบัติงานให้บรรลุเป้าหมายร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ  การเป็นผู้นำที่มีความโดดเด่นจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่ผู้บริหารสถานศึกษาต้องได้รับการพัฒนาให้มีทักษะหลัก  (Core  Leadership skills) หรือทักษะที่จำเป็น (Essential Skills) อย่างต่อเนื่องซึ่งจะส่งผลให้ผู้บริหารสถานศึกษาสามารถใช้ทักษะภาวะผู้นำให้เกิดความชำนาญและความเชี่ยวชาญในการบริหารตนเอง          การบริหารงานและการบริหารบุคลากรอย่างต่อเนื่องเพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาให้มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลอย่างยั่งยืน
คำสำคัญ : ทักษะภาวะผู้นำ, ทักษะภาวะผู้นำในศตวรรษที่ 21, ทักษะภาวะผู้นำสำหรับผู้บริหารสถานศึกษา

Abstract

The most important variable successful factor in educational administration in the 21st century is the school administrators that should be a personal learning and change.  They have self- development for being a good leadership; leadership skills, wisdoms, talent and knowledge, emotional Intelligence, moral courage; and using skills in research and development for management that affect to quality development throughout the total schools with focus on student achievement at all levels.
 
Achieving the sustainable development goals requires investing in the quality of learners that concern with school leadership. High performance school leadership is the key to sustainable educational reform and development. Both of local and foreign educators viewed that school administrators must be modern leaders with particular skills management. The school administrator can link the current state and the future image that attention to develop the capacity of personnel for working effectively. Being the outstanding leadership in education is very important that school administrators must develop their core leadership skills or essential skills constantly needed. This will effect to the ability of the school administrators to use their professional and expert leadership skills and self-management. Although, tasks management and personnel management continuously that improving to the educational quality development efficiency and effectiveness.
Keywords: leadership skills, 21st century leadership skills, leadership skills for school administrators

บทนำ

          กระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งทางด้านวิทยาการ  และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศทำให้แต่ละประเทศไม่สามารถปิดตัวอยู่โดยลำพังได้  ต้องมีการติดต่อสื่อสารและพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน  มีความร่วมมือในการปฏิบัติภารกิจและแก้ปัญหาต่างๆร่วมกันมากขึ้น  สังคมโลกในยุคปัจจุบันเต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสาร  ทำให้คนต้องคิดวิเคราะห์  แยกแยะและมีการตัดสินใจที่รวดเร็วเพื่อให้ทันกับเหตุการณ์ที่มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น  สิ่งเหล่านี้นำไปสู่สภาวการณ์ของการแข่งขันทางเศรษฐกิจ  การค้าและอุตสาหกรรมระหว่างประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้และเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้หลายประเทศต้องปฏิรูปการศึกษา  เพราะคุณภาพของการจัดการศึกษาเป็นตัวบ่งชี้สำคัญประการหนึ่งและเป็นตัวชี้วัดศักยภาพการแข่งขันในเวทีโลกของแต่ละประเทศ  ฉะนั้น  ประเทศที่จะคงความได้เปรียบก็คือประเทศที่มีอำนาจทางความรู้และเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ สถาบันการศึกษาในระดับต่างๆ  มีบทบาทและหน้าที่ในการจัดการศึกษา  การอบรมสั่งสอนอย่างสมดุลให้สอดคล้องกับชีวิตจริง  ตลอดจนการสร้างความรู้และส่งเสริมความสามารถอย่างหลากหลายเพื่อนำไปสู่การประกอบวิชาชีพ  โดยเฉพาะในระดับโรงเรียนซึ่งมีหน้าที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานจะต้องจัดการเรียนการสอนไม่ใช่เพียงเน้นด้านวิชาความรู้เท่านั้น  แต่ต้องจัดการศึกษาให้ครอบคลุมด้านอื่นๆ  ในชีวิตจริงของผู้เรียนด้วย  โดยมุ่งให้โอกาสผู้เรียนทุกคนให้ได้รับการศึกษาตามความสามารถและศักยภาพของแต่ละคน  และมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและเอื้อต่อการศึกษาเรียนรู้  โรงเรียนต้องเป็นหน่วยบริการทางการศึกษาในมิติที่กว้างขึ้น  เพราะในปัจจุบันเป็นสังคมโลกไร้พรมแดนมีการติดต่อประสานสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่างๆ  มากขึ้น  ดังนั้นในอนาคตโรงเรียนแต่ละแห่งจะต้องมีการแข่งขันด้านคุณภาพมากขึ้น  โรงเรียนในประเทศไทยจึงจำเป็นต้องพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ยุคใหม่ที่มุ่งพัฒนาผู้เรียนและผลิตกำลังคนให้มีศักยภาพเพื่อที่จะช่วยพัฒนาประเทศให้สามารถแข่งขันในด้านเศรษฐกิจ  สังคม  วัฒนธรรม  การเมืองและเทคโนโลยีกับนานาประเทศได้อย่างยั่งยืน 

แนวโน้มการบริหารจัดการศึกษาในศตวรรษที่ 21 (21st Century Trend for Educational Administration)
          ผู้บริหารสถานศึกษามีหลายบทบาทขึ้นอยู่กับภารกิจและกิจกรรมการบริหารซึ่งการบริหารให้ประสบ ความสำเร็จต้องอาศัยหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้องการ บริหารงานการศึกษาในยุคปัจจุบันจะต้องสอดคล้องกับ การเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก โดยเฉพาะสังคมแห่งการเรียนรู้ในยุคของเทคโนโลยีในการเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ ของทุกภูมิภาคของโลกเข้าด้วยกัน ผู้บริหารจะต้องแสดงบทบาทอย่างเต็มที่และใช้กลยุทธ์และเทคนิคการบริหาร ระดับสูงจึงจะสามารถนำพาองค์กรสู่ความสำเร็จ จากสภาพสภาพแวดล้อมในยุคปัจจุบันและการ เปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีทำให้การจัดการเรียนการสอนต้องมีการเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมการเรียนต้องเรียนให้รู้จริง (Mastery learning) ผู้เรียนต้องเรียนรู้เพื่ออนาคตของตนเอง (Motivation) ไม่ใช่เรียนเพื่อสอบ เป้าหมายอีกอันคือ เรียนรู้โดยลงมือทำและคิดสร้างสรรค์นวัตกรรม นำไปสู่การเรียนอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต สถานศึกษาต้องมุ่งบริหารจัดการเพื่อสร้างคนเป็นผู้นำ การเปลี่ยนแปลงผู้เรียนที่พัฒนาตนเองรอบด้าน       คือ การเรียนรู้ของผู้เรียน (Student Learning) ผู้นำกระบวนการเรียนรู้ของครูผู้สอน (Teacher Learning) และระบบการเรียนรู้  (Systems Learning) ที่สามารถสนองความต้องการของผู้เรียนไปสู่การเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพในอนาคต ซึ่งผู้บริหารสถานศึกษาต้องบริหารให้ได้ระบบการศึกษาที่รับผิดชอบต่อผลงานในทุกระดับและทุกด้านคือ เชื่อมโยงกับสังคมเป็น change & Learning Management สอดคล้องกับ เซอร์เคน โรบินสัน (Ken Robinson 2015) ซึ่งสามารถสรุปประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการปฏิวัติการศึกษาของสถานศึกษายุคใหม่ ดังต่อไปนี้
1) การปฏิวัติการศึกษาจากฐานล่าง ได้แก่ ระดับโรงเรียนและชุมชน โดยเปิดโอกาสให้โรงเรียนออกแบบการศึกษาจากสภาพจริง ใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง และมีเครือข่ายการทำงานที่ใกล้ชิดระหว่างครอบครัวและโรงเรียน โดยผลการเปลี่ยนแปลงจะเกิดแก่นักเรียน ครู ผู้บริหารโรงเรียน คณะกรรมการโรงเรียนและภาคีที่เกี่ยวข้อง
2) การมุ่งพัฒนาการเรียนการสอนมากกว่าการปฏิรูปโครงสร้างโรงเรียน โดยครูเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้นำกระบวนการเรียนรู้ ช่วยเด็กให้ค้นพบความสามารถ และการสอนไม่ใช่การยืนอยู่ที่หน้ากระดานแต่เป็นการสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้เด็กทำงานเป็นกลุ่ม และการสอนบูรณาการความรู้จากสาขาหนึ่งเข้ากับความรู้ต่างสาขา เช่น การผนวกวิชาศิลปะและชีววิทยา มนุษยศาสตร์กับคณิตศาสตร์
3) การออกแบบการเรียนรู้อย่างมีศิลป์เหมาะกับผู้เรียนและมีความยืดหยุ่น เพื่อให้สอดคล้องกับความสนใจและความสามารถของผู้เรียน และมีการประเมินผลที่แตกต่าง กระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความกระหายที่จะเรียนรู้ได้สูงขึ้น มีความขยันและทุ่มเทให้กับการเรียน รวมถึงนวัตกรรมการเรียนรู้ผ่านโครงงาน
4) การเรียนรู้ต้องให้เกิดการพัฒนาสมรรถนะ 8 C ให้แก่ผู้เรียน ได้แก่ Curiosity (ความสงสัยใคร่รู้) Creativity (ความคิดสร้างสรรค์) Criticism (การวิพากษ์) Communication (การสื่อสาร) Collaboration (การร่วมมือกัน) Compassion (ความเห็นอกเห็นใจ) Composure (ความหนักแน่น สุขุม) และ Citizenship (การรู้หน้าที่พลเมือง)

ทักษะภาวะผู้นำ (Leadership Skill)
          ทักษะภาวะผู้นำเป็นเรื่องของความสามารถ  ความชำนาญ ความคล่องแคล่วและความเชี่ยวชาญในการมีอิทธิพลต่อคนอื่นๆ  เพื่อบรรลุเป้าหมายที่ต้องการอย่างเป็นธรรมชาติ  ทักษะภาวะผู้นำเป็นสิ่งที่สามารถเรียนรู้และพัฒนาได้ด้วยตนเองและจากการเรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์  และการพัฒนาโดยใช้โปรแกรมพัฒนาทักษะภาวะผู้นำ จากการสังเคราะห์ การมีทักษะภาวะผู้นำนั้นส่งผลดีและเกิดประโยชน์โดยตรงต่อผู้นำในองค์กรต่างๆ  (Adair  2010  และ  Jodhi  2012)  โดยสรุปดังนี้
          1)  ความเจริญก้าวหน้าของการเป็นผู้นำ  (Advancement)  ความก้าวหน้าในชีวิตส่วนตัวหรือในวิชาชีพของของผู้นำนั้นต้องอาศัยวิธีการต่างๆ  ในการทำงานให้บรรลุเป้าหมาย  โดยจำเป็นต้องมีทักษะความเป็นผู้นำที่สำคัญในด้านต่างๆ  เพื่อทำให้เป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพ  ซึ่งทักษะภาวะผู้นำนั้นสามารถนำไปสู่การตัดสินใจที่ซับซ้อนและการสื่อสารได้อย่างชัดเจน  รวมถึงการมอบหมายความรับผิดชอบบทบาทหน้าที่ให้กับผู้ตามได้อย่างชำนาญและคล่องแคล่ว  ทักษะภาวะผู้นำเป็นสิ่งที่สามารถเรียนรู้และช่วยส่งเสริมการปรับตัวของผู้นำให้ดีขึ้นไม่ว่าจะเป็นที่บ้านหรือที่ทำงาน 
          2)  ช่วยพัฒนาวิสัยทัศน์และผลลัพธ์ของงาน  (Vision  and  Outcome)  การเป็นผู้นำที่มีวิสัยทัศน์นั้นสิ่งที่จะขาดไม่ได้ก็คือทักษะความเป็นผู้นำ  เพราะจะทำให้ประสบความสำเร็จในการเป็นผู้นำ  การมีวิสัยทัศน์ทำให้ผู้นำสามารถกำหนดเป้าหมายความสำเร็จในการทำงานร่วมกับผู้ตาม    ทำให้สามารถตัดสินใจเกี่ยวกับการมองภาพอนาคตและความคาดหวังในการทำงานของทีมให้สำเร็จตามระยะเวลาที่กำหนด
          3)  การเจริญเติบโตและความก้าวหน้าขององค์กร  (Growth)  การมีทักษะภาวะผู้นำทำให้ผู้นำสามารถปรับปรุงคุณภาพการทำงานของทีมงานอย่างต่อเนื่องก่อให้เกิดความสำเร็จร่วมกันทั้งของสมาชิกในทีมและองค์กร  ทักษะภาวะผู้นำก่อให้ผลลัพธ์ในการทำงานที่ดีขึ้น  การพัฒนาและทักษะภาวะผู้นำด้านอื่นๆ  เป็นการช่วยเพิ่มโอกาสในการก้าวหน้าไปพร้อมกับความสามารถในการบรรลุเป้าหมายของการเป็นผู้นำมืออาชีพและเจริญเติบโตไปพร้อมกันทั้งตัวนำ  ผู้ตามและองค์กร
          นอกจากนี้ Rothstein  และ  Burke  (2010)  ได้กล่าวถึงความสำคัญของทักษะภาวะผู้นำที่มีประสิทธิผล  (The  Importance  of  Effective  Leadership  Skill)  ว่า  ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์และมีคุณภาพจะต้องมีลักษณะด้านบุคลิกภาพที่ชัดเจน  มีจุดมุ่งหมายสูงสุดของการเป็นนำ  โดยการพัฒนาทักษะการปฏิบัติงานและกิจกรรมต่างๆ  เพื่อนำมาใช้ในการทำงานให้บรรลุเป้าหมายที่ให้ประสบความสำเร็จ  การเป็นผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนในทุกประการจะเป็นในการพัฒนาบุคลิกภาพและลักษณะเฉพาะตัวของความเป็นผู้นำที่ทุกคนให้การยอมรับ  และการเคารพนับถือในองค์กร  ความสำคัญของการมีทักษะภาวะผู้นำนั้นถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่เป็นแรงผลักดันและช่วยส่งเสริมความเป็นผู้นำที่สมบูรณ์  สรุป ดังนี้ 
          1)  ช่วยพัฒนาบุคลิกภาพความเป็นผู้นำที่สมบูรณ์  (Character  Development)  บุคลิกภาพเป็นภาพที่แสดงออกถึงการเป็นผู้นำที่น่าเชื่อถือ  การเรียนรู้และพัฒนาบุคลิกภาพของผู้นำนั้นจึงต้องอาศัยทักษะในการนำเอาความรู้  ทัศนคติ  ไปปรับใช้ในสถานการณ์ที่จำเป็นในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้นำ
          2)  ช่วยกระตุ้นแรงบันดาลใจและพัฒนาคุณภาพความเป็นผู้นำ  (Aspire  and Develop  Leadership  Qualities)  การเป็นผู้นำในองค์กรหรือในสังคมนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย  การเป็นผู้นำที่มีความโดดเด่นไม่ได้ตัดสินกันที่ตำแหน่งเพียงอย่างเดียว  แต่จะพิจารณาถึงการมีทักษะภาวะผู้นำ  ความสามารถในการสร้างความสัมพันธ์  และการปรับตัวในสถานการณ์ต่างๆ  ได้ดี
          3)  ช่วยพัฒนาให้มีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน  (Clear  Vision)  ผู้นำต้องมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน  การเป็นผู้นำจะถูกกำหนดโดยปัจจัยหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นการสร้างภาวะผู้นำน่วม  การกำหนดวัตถุประสงค์  การกำหนดเป้าหมาความสำเร็จ  การจัดสรรและการใช้ทรัพยากร  โดยคำนึงถึงสภาวการณ์ของสังคม  วัฒนธรรม  การเมืองและเศรษฐกิจ  สิ่งแวดล้อม  และสถานการณ์ที่ผู้นำพบในขณะนั้น
          4)  ช่วยทดสอบการเป็นผู้นำที่แท้จริง  (True  Test  of  a  Leader)  สิ่งที่จะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่มีความเกี่ยวพันกับการเป็นผู้นำคือ  "วิกฤตที่ไม่คาดคิด" การเผชิญกับกับอุปสรรคและความยากลำบากหรือวิกฤตที่หลีกเลี่ยงไม่ได้  เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้นำแสดงให้เห็นถึงประเภทของบุคคลที่เป็นจริง  ทักษะภาวะผู้นำในตัวตนของผู้นำจะเป็นตัวช่วยผลักดันให้ผู้นำใช้ความสามารถ  ความชำนาญและความคล่องแคล่วๆ  ให้หมดไป
          สรุปได้ว่า  ทักษะภาวะผู้นำมีความสำคัญต่อตัวผู้นำ  ซึ่งมีความรับผิดชอบต่างๆ  ในการกำหนดอนาคตและการแก้ไขปัญหาอย่างมีความกล้าหาญ  ความมั่นคงด้วยการลงมือทำในสิ่งที่ผู้นำและผู้ตามมีความคาดหวัง  การพัฒนาตนเองให้มีทักษะภาวะผู้นำจนกลายนิสัยที่สมบูรณ์สำหรับผู้นำเองจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญที่สุดของการเป็นผู้นำของตัวเองและคนอื่นๆ  ในทุกสถานการณ์

ทักษะภาวะผู้นำในศตวรรษที่ 21 ( 21st Century Leadership Skill)
จากการศึกษาขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Cooperation and Development (OECD)  2013) ได้นำเสนอเกี่ยวกับทักษะภาวะผู้นำที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 (Essential Leadership Skills in the 21st Century) ซึ่งเป็นทักษะภาวะผู้นำที่จะต้องเสริมสร้างให้เกิดขึ้นในตัวของผู้นำในระดับต่างๆ ได้แก่ ทักษะการสร้างทีมงานที่มีประสิทธิผล (Effective Team Building Skill) ทักษะการแก้ปัญหา (Problem Solving Skills) ทักษะการวางแผน (Planning Project Skills) ทักษะการกำกับการปฏิบัติงาน (Performance Monitoring Skills) ทักษะการสื่อสาร (Communication Skills) ทักษะการสร้างความสัมพันธ์ (Relationship Building up Skills) ทักษะการเป็นพี่เลี้ยง (Coaching Skills) ทักษะทางสังคม (Social Skill) ทักษะการติดสินใจ (Decision Making Skill) ทักษะการกระตุ้นจูงใจ (Motivational Skills) ทักษะการคิดและสะท้อนผล (Reflective & Thinking Skills) ทักษะการจัดการตนเอง (Self-Management Skills) ทักษะด้านการใช้เทคโนโลยี (Technological Skills) ทักษะด้านการเรียนการสอน (Pedagogical Skills) ทักษะด้านความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence Skills) ทักษะการเสริมพลังอำนาจ (Empowerment Skills) ทักษะการกำหนดวิสัยทัศน์ (Visioning Skills) ทักษะการบริหารเวลา (Time Management Skills) ทักษะการแก้ปัญหาความขัดแย้ง (Conflict Resolution) และ ทักษะการจัดการความเสี่ยง (Risk Management Skills) สอดคล้องกับ Lee (2008)  ได้นำเสนอไว้ว่า ทักษะภาวะผู้นำโรงเรียนที่ส่งผลต่อการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่นในการปฏิบัติงานร่วมกันให้ประสบความสำเร็จ ได้แก่ ทักษะการสร้างทีมงาน (Team Building Skill) ทักษะด้านความร่วมมือ (Collaboration Skill) ทักษะด้านการคิดวิเคราะห์และสร้างสรรค์ (Critical Thinking And Creativity Skill) ทักษะด้านการแก้ปัญหา (Problem Solving Skill) ทักษะด้านการสื่อสาร (Communication Skill) และทักษะด้านนวัตกรรมเพื่อการเรียนรู้ (Learning Innovation Skill)
National Association of Secondary School Principals (NASSP) (2014)  ซึ่งเป็นสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา ได้เสนอทักษะภาวะผู้นำของผู้บริหารสถานศึกษาไว้  4 ด้าน โดยสรุป มีดังนี้
1) ทักษะด้านการกำหนดทิศทางองค์กร (Setting instructional direction skill) ประกอบด้วย  การกำหนดเป้าหมายองค์กร การทำงานเป็นทีม และมีความไวต่อการเปลี่ยนแปลง
2) ทักษะด้านการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน (Solving complex problem skills) ประกอบด้วย         การประเมินปัญหา  การมุ่งผลสัมฤทธิ์ และการพัฒนาขีดความสามารถให้กับองค์กร
3) ทักษะด้านการสื่อสาร (Communication Skill) ประกอบด้วย มีความสามารถในการพูดและการเขียน
4) ทักษะด้านการพัฒนาตนเองและบุคลากร (Development self and others)  ประกอบด้วย   การพัฒนาบุคลากรและการเข้าใจจุดแข็งและจุดอ่อนในตนเอง
Center  for  Creative  Leadership  (2015)  ได้นำเสนอเกี่ยวกับทักษะภาวะผู้นำ ( Leadership Skills ) เป็นกระบวนการใช้ความสามารถและความชำนาญในการปฏิบัติงานตามหน้าที่และการบริหารงานในองค์กรให้มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล การพัฒนาทักษะภาวะผู้นำช่วยให้ผู้นำมีความเข้าใจในประสบการณ์และเข้าใจคุณค่าของความเป็นผู้นำในตัวเอง  ตระหนักถึงวิธีการขจัดความขัดแย้งในการปฏิบัติงาน ส่งเสริมพฤติกรรมและพัฒนาความสามารถพิเศษของความเป็นผู้นำ มุ่งบรรลุเป้าหมายของการปฏิบัติงานร่วมกันภายใต้ความท้าทายต่างๆ  โดยให้ทุกคนมีบทบาทและมีส่วนร่วมในการวางแผนไปสู่เป้าหมายของการปฏิบัติงานร่วมกัน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะภาวะผู้นำที่จำเป็นสำหรับผู้บริหารในศตวรรษที่  21   ( Essential leadership skills in the 21 st century )  ซึ่งเป็นการสังเคราะห์ทักษะภาวะผู้นำที่จะต้องเสริมสร้างให้เกิดขึ้นในตัวผู้นำในระดับต่างๆ ที่สำคัญ ดังนี้ 
1) ทักษะการสร้างทีมงานที่มีประสิทธิผล (  Effective Team building skill ) 
2)  ทักษะการแก้ปัญหา ( Problem  solving skills ) 
3)  ทักษะการวางแผน ( Planning Project skills ) 
4)  ทักษะการกำกับการปฏิบัติงาน  ( Performance monitoring skills ) 
5)  ทักษะการสื่อสาร  (Communication skills ) 
6)  ทักษะการสร้างความสัมพันธ์  ( Relationship building up skills ) 
7)   ทักษะการเป็นพี่เลี้ยง  ( Coaching skills )
8)   ทักษะทางสังคม  ( Social skill ) 
9)  ทักษะการติดสินใจ   ( Decision making skill ) 
10) ทักษะการกระตุ้นจูงใจ ( Motivational skills ) 
11) ทักษะการคิดและสะท้อนผล  ( Reflective & thinking  skills )
12) ทักษะการจัดการตนเอง (Self-management skills)  
13) ทักษะด้านการใช้เทคโนโลยี (Technological skills)  
14) ทักษะด้านการเรียนการสอน  (Pedagogical skills) 
15) ทักษะด้านความฉลาดทางอารมณ์ ( Emotional intelligence skills )  
16) ทักษะการเสริมพลังอำนาจ    ( Empowerment skills )   
17) ทักษะการกำหนดวิสัยทัศน์  (Visioning skills)  
18) ทักษะการบริหารเวลา  (Time  management skills)   
19) ทักษะการแก้ปัญหาความขัดแย้ง  (Conflict resolution)
20) ทักษะการจัดการความเสี่ยง  (Risk management skills)  

การนำฐานคิดทางทฤษฎีเกี่ยวกับทักษะภาวะผู้นำไปใช้ในการบริหารและพัฒนาการศึกษา
          การพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐานถือว่าเป็นกรอบสำคัญในการปฏิรูปการศึกษา  โดยมุ่งหมายให้ผู้บริหารสถานศึกษาพัฒนาตนเองและพัฒนางานอย่างต่อเนื่อง  ซึ่งการบริหารและพัฒนาการศึกษาในปัจจุบันจะมีลักษณะแตกต่างไปจากเดิมมากโดยสถานศึกษาจะมีอำนาจในการบริหารและจัดการศึกษาด้วยตนเองมากขึ้นทำให้ผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องปรับบทบาทหน้าที่เพื่อปฏิบัติงานในรูปแบบใหม่ได้อย่างยั่งยืน  จึงมีความจำเป็นต้องมีการพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษาให้มีทักษะทางการบริหารงานอย่างต่อเนื่องเพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจ  มีความพร้อม  มีสมรรถนะและศักยภาพ  มีขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงาน  สามารถบริหารจัดการศึกษาและดำเนินการปฏิรูปการเรียนรู้ในสถานศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพตามหลักธรรมาภิบาล  สามารถบริหารจัดการและสนับสนุนเพื่อพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลส่งผลต่อคุณภาพผู้เรียนตามเจตนารมณ์ของการจัดของชาติไปสู่อนาคตใหม่ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะส่งผลให้ผู้บริหารสถานศึกษามีผลปฏิบัติงานที่ดีขึ้นทั้งในมิติด้านการพัฒนาบุคคล  มิติด้านการพัฒนาระบบบริหารงาน  มิติด้านการทำงานเป็นทีมและมิติด้านการพัฒนาสถานศึกษาอย่างยั่งยืน
          การพัฒนาทักษะภาวะผู้นำของผู้บริหารสถานศึกษาจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในยุคของการปฏิรูปการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ที่ประเทศไทยกำลังท้าทายกับการเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุค ประเทศไทย 4.0หรือ ไทยแลนด์ 4.0ซึ่งต้องอาศัยฐานการพัฒนาไปสู่เป้าหมายในอนาคตโดยอาศัยการพัฒนาคุณภาพการศึกษาทุกระดับเป็นฐานเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน  ทั้งนี้  การพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษาให้มีความพร้อมในการบูรณาการ (Integration)  ทักษะ  (Skill)  ความรู้  (Knowledge)  คุณลักษณะ  (Trait)  นิสัย  (Habit)  และทัศนคติ  (Attitude) จึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งซึ่งจะส่งผลดีโดยตรงต่อการปฏิบัติงานในสถานศึกษายุคใหม่และเพื่อเป็นการเพิ่มคุณค่าในการพัฒนาทักษะภาวะผู้นำในองค์การสถานศึกษายุคใหม่ให้สามารถบรรลุเป้าหมายการปฏิบัติงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลได้สูงสุดต่อการพัฒนาประเทศไปสู่อนาคตที่ยั่งยืน ตามภาพประกอบ  1


ภาพประกอบ  1 การบูรณาการทักษะภาวะผู้นำของผู้บริหารสถานศึกษาในศตวรรษที่ 21 ผู้นำไปใช้ในการบริหารและพัฒนาการศึกษา


สรุป
การเป็นผู้นำที่มีความโดดเด่นนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการปฏิบัติงานในมิติต่างๆให้มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล  ผู้บริหารสถานศึกษาจึงต้องได้รับการพัฒนาให้มีทักษะหลัก  (Core  Leadership  Skills)  หรือทักษะที่จำเป็น  (Essential  Skills)  ซึ่งถือว่ามีความสำคัญสำหรับผู้นำยุคใหม่ที่กำลังได้รับความสนใจทั่วโลก เพราะการดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุขในองค์กรและในชีวิตทั่วไปผู้นำองค์กรสมัยใหม่ต้องสามารถมองโลกได้หลายมิติ  สามารถเชื่อมโยงบูรณาการสิ่งต่างๆ  ที่ส่งผลต่อการบริหารงานภายในและภายนอกองค์กรได้อย่างชาญฉลาด  เป็นผู้นำที่สามารถสร้างความประทับใจและเข้าถึงเพื่อนร่วมงานได้ทุกระดับ  จนกลายเป็นวัฒนธรรมและค่านิยมที่ดีงามของการเป็นผู้นำที่มีความกล้าหาญทาง  จริยธรรม (Courage Moral) ประจำจนกลายเป็นที่ยอมรับนับถือและจะช่วยพัฒนาคุณภาพการศึกษาของประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นต่อไป

เอกสารอ้างอิง

Adair,  John. Develop  Your  Leadership  Skills.  Great  Britain :  Thorogood
           Publishing, 2010. 
Center  for  Creative  Leadership. Essential leadership skills in the 21 st century. United
              States  of  America :  Colorado Springs,  2015. 
Jodhi,  M. Administration  Skills.  United States of America :  Ventus, 2012.  
Ken Robinson. Creative Schools: The Grassroots Revolution That's Transforming
Education. 2 rd ed. New York : Viking Penguin, 2015.
National  Association  of  Secondary  School  Principals  (NASSP)Breaking  Ranks:  10 
           Skills  for  Successful  School  Leaders. United States of America : Boston, 2014. 
Organization for Economic Co-operation and Development (OECD).  OECD  Skills  Outlook
           2013 :  First  Results  From  the  Survey  of  Adult  Skills.  United States of
           America : OECD  Publishing. 2013. 
Rothstein,  M.  G.  and  Burke,  Ronald  J.  Self-Management  and  Leadership
              Development.  United  States  of  America :  Edward  Elgar  Publishing  Limited, 2010